- คนเก่งเกษตรสมัยใหม่
- พฤ., 25 เม.ย. 62
ในโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทายและเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีครอบครัวหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นถึงพลังแห่งความรัก ความมุ่งมั่น และความร่วมแรงร่วมใจของสมาชิกในครอบครัว แต่ด้วยเป้าหมายเดียวกันคือการทำไร่อ้อยให้ประสบความสำเร็จ พวกเขาได้ร่วมกันต่อสู้และฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการ ด้วยความตั้งใจและความขยันหมั่นเพียร ทุกคนในครอบครัวต่างทุ่มเทแรงกาย แรงใจ เรียนรู้ และพัฒนาทักษะการทำเกษตรกรรมอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสามารถสร้างผลผลิตอ้อยที่มีคุณภาพ และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับครอบครัว
วันนี้เราจะพาเพื่อนมิตรชาวไร่ไปรู้จักกับครอบครัวแซ่โง้ว โดยมีนายมนัส แซ่โง้ว หรือเตี่ยนัส เถ้าแก่ไร่อ้อยผู้สุขุมนุ่มลึก ที่มีประสบการณ์ทำไร่กว่า 40 ปี ที่มาพร้อมกับแม่ทุเรียน คุณไพบูลย์ และคุณอนุชัย ภรรยาและทายาททั้งสองคน ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดันไร่อ้อยภายใต้การดูแลของครอบครัวแซ่โง้ว ให้เติบโตสู่ธุรกิจไร่อ้อยสมัยใหม่ที่เป็นต้นแบบการทำไร่ให้ประสบความสำเร็จแก่ชาวไร่ในจังหวัดสุพรรณบุรี
เตี่ยนัส ในวัย 64 ปี เริ่มต้นเข้าสู่การทำไร่อ้อยด้วยวัยเพียง 13 ปี เนื่องจากพ่อแม่ที่ประกอบอาชีพชาวไร่ได้ปลูกฝังให้ลูกเข้าไร่เพื่อช่วยเหลืองานต่าง ๆ ตั้งแต่เด็ก ทำให้เตี่ยนัสได้คลุกคลีกับกิจกรรมในไร่อ้อยมานับตั้งแต่สมัยนั้น ที่ครอบครัวมีไร่อ้อยเพียง 20 ไร่
“เราเรียนไม่ได้สูงหรอก จบชั้นประถมศึกษานี่แหละ แล้วก็ทำงานมาตลอด ตั้งแต่ช่วยดายหญ้า ปลูกอ้อย ตัดอ้อย ทำตั้งแต่มีไม่กี่ไร่จนเริ่มขยายเป็น 100 ไร่ จนโรงงานมิตรผลมาตั้งที่สุพรรณบุรี จากที่เป็นลูกไร่เถ้าแก่คนอื่น ก็ออกมาขอเปิดโควต้ากับมิตรผล จำได้ว่าเปิดโควต้าครั้งแรก 1,000 ตัน เมื่อปี พ.ศ.2535”
เตี่ยนัสเล่าว่า ตอนที่โรงงานมาตั้งใหม่ ๆ ตนและครอบครัวก็รู้สึกดีใจที่มีโรงงานชื่อดังมาตั้งใกล้บ้าน จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมเข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับการทำไร่อ้อยแก่เกษตรชาวไร่อ้อยในพื้นที่ รวมถึงเปิดโอกาสให้ได้ศึกษาแนวทางและเทคโนโลยีการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ให้ได้ผลผลิตดีและคุ้มค่า
“เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาแนะนำ ช่วยเหลือทุก ๆ อย่างเกี่ยวกับการทำไร่อ้อยสมัยที่เรียกว่าโมเดิร์นฟาร์ม มีอะไรใหม่ ๆ มาแนะนำเราเยอะมาก เราก็กล้าก็เปลี่ยนแปลง อยากเรียนรู้ว่าสิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้จะช่วยให้เราทำไร่ได้ดีจริงไหม ซึ่งผลที่ได้คือคำตอบที่ชัดเจนที่สุดว่า เราสามารถทำไร่อ้อยได้ผลผลิตดีกว่าสมัยก่อนมาก ๆ โดยเฉพาะเรื่องของการเตรียมแปลง การทำชลประทาน”
หากให้มองถึงหัวใจสำคัญของการปลูกอ้อยให้ได้ผลผลิตดีตามเป้า เตี่ยนัสและครอบครัวยกให้เรื่องระบบชลประทานยืนหนึ่ง
“ในการทำไร่อ้อยต้องมีชลประทานที่สมบูรณ์ ดูตัวอย่างจากเมื่อก่อนที่ทำไร่อ้อยแบบสมัยเก่า ต้องรอน้ำจากฝนอย่างเดียว แล้งมาก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว มีแต่ความท้อแท้ หรือบางคนปลูกอ้อยไม่ได้สนใจเรื่องน้ำ ปลูก ๆ ไป เดี๋ยวก็โตเอง เราก็จะไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร ไร่เราเน้นเรื่องน้ำสำคัญ ทำไร่อ้อยที่มีระบบน้ำดี ทำให้เราทำไร่อ้อยได้ทันเวลา สามารถคอนโทรลไร่อ้อยได้เอง”
ปัจจุบันไร่อ้อยของครอบครัวแซ่โง้ว ใช้มีระบบน้ำหยดในไร่อ้อย 100% โดยมีบ่อบาดาลจำนวน 35 บ่อ เรียกได้ว่ามีบ่อดาลทุกแปลง
ด้วยจำนวนบ่อบาดาลที่มากถึง 35 บ่อ แน่นอนว่าต้นทุนด้านการใช้พลังงานสำหรับการสูบน้ำต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ด้วยการมองหาวิธีการลดต้นทุนเพื่อเพิ่มผลผลิตอย่างต่อเนื่องของสมาชิกในครอบครัว กอรปกับคำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของมิตรผล เตี่ยนัสและครอบครัวจึงหันมาลงทุนกับพลังงานโซล่าร์เซลล์
“เรามีโซล่าร์เซลล์ จำนวน 15 ชุด จากสมัยก่อนที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับสูบน้ำให้น้ำหยดในแปลงอ้อย มีค่าใช้จ่ายปีละประมาณ 288,000 บาท ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้โซล่าร์เซลล์ ทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง สามารถลดค่าใช้จ่ายลดลงเหลือเพียงปีละ 36,000 บาท นั่นหมายความว่า สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 252,000 บาทต่อปี เราลดต้นทุนค่าใช้จ่ายตรงนี้ไปได้พอสมควร”
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การทำไร่อ้อยของเตี่ยนัสและครอบครัวประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ คือการนำเครื่องจักร และเครื่องมือการเกษตรต่าง ๆ เข้ามาช่วยงานในไร่อ้อย โดยเริ่มจากการเตรียมแปลงให้รองรับการทำงานของรถประเภทต่าง ๆ ซึ่งแม่ทุเรียน ภรรยาคนเก่งของเตี่ยนัสกล่าวว่า
“การทำไร่อ้อยเครื่องไม้เครื่องมือต้องพร้อม ทำไร่ก็ต้องเตรียมพื้นที่ให้รองรับเครื่องมือ เราปลูกอ้อยรองรับรถตัด 100% ปลูกระยะร่อง 1.65 เมตรขึ้นไป เรามีเครื่องมือครบก็ได้ประโยชน์มากกว่า เครื่องมือบางอย่างลูกชายก็ดัดแปลงให้เหมาะสมกับไร่ของเรา เมื่อก่อนทำไร่อ้อยอาศัยคนงานอย่างเดียว มีคนงานเยอะ ตอนนี้หลัก ๆ จะมีคนงานที่ขับรถ ที่เหลือก็จะมาช่วยในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว เพราะเรายังมีบางพื้นที่ที่รถตัดเข้าไม่ถึง”
ปัจจุบันเตี่ยนัสมี รถตัดอ้อย 2 คัน John Deere 1 คัน Case IH 1 คัน, รถกล่อง 10 คัน, รถบรรทุกพ่วง 3 พ่วง, รถไถใหญ่ 2 คัน, รถไถเล็ก 1 คัน, นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ต่อพ่วงต่าง ๆ อาทิ ริปเปอร์ระเบิดดินดาน เครื่องตีแนว เครื่องปลูกอ้อย เครื่องฝังปุ๋ย ผาลสับใบอ้อย พรวน 22 จาน และพรวน 12 จาน เป็นต้น
จากความพร้อมของเครื่องไม้เครื่องมือทำให้ประสิทธิภาพรถตัดปี 66/67 ของครอบครัวแซ่โง้ว เป้าหมาย 20,000 ตัน เกิดจริง 25,000 ตัน ผลผลิตปี 66/67 อ้อยปลูกเฉลี่ย 18-20 ตัน/ไร่ อ้อยตอเฉลี่ย 12 ตัน/ไร่ ความหวานเฉลี่ย 10.45 C.C.S.
ความสำเร็จของเตี่ยนัสและแม่ทุเรียน จะขาดสองกำลังสำคัญนี้ไปไม่ได้เลย นั่นคือลูกชายทั้งสองที่เปรียบเสมือนมือขวา มือซ้ายของครอบครัว
คุณไพบูลย์-คุณอนุชัย ทายาทคนเก่งของเตี่ยนัส ที่เข้ามาช่วยเหลืองานในไร่ตั้งแต่อายุยังน้อย จนเริ่มเข้ามาทำไร่เต็มตัวเมื่ออายุ 15 ปี ด้วยการขยายตัวของไร่ที่เพิ่มขึ้น และเห็นว่าเตี่ยกับแม่ต้องการกำลังเสริมทั้งสองคนจึงตัดสินใจมาสานต่ออย่างเต็มกำลัง
คุณบูลย์เล่าถึงบทบาทหน้าที่ของตนเองและน้องชายที่เข้ามาช่วยเรื่องบริหารจัดการทำไร่อ้อยตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดินจนถึงตัดอ้อย เป็นกำลังหลักในการวางแผนบริหารจัดการทำไร่อ้อยในทุกกิจกรรมร่วมกับครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องบริหารการเก็บเกี่ยวด้วยรถตัดอ้อยทั้งของตนเองและรับจ้างตัด พร้อมทั้งบำรุงรักษาเครื่องมือเครื่องจักร เรียนรู้และพัฒนาอาชีพการทำไร่อ้อยอยู่ตลอดเวลา
“เราคิดว่าทำอย่างไรก็ได้ ให้การทำไร่อ้อยของครอบครัวประสบความสำเร็จ ทำแล้วต้องสบาย มั่นคง ยั่งยืน เพราะไร่อ้อยคือ มรดกชิ้นสำคัญของครอบครัว เราอยากทำไร่อ้อยให้สามารถใช้เครื่องจักรได้ 100% เพื่อลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น ที่สำคัญลูกหลานที่จะมาทำต่อ จะได้ทำไร่ได้สะดวกสบาย เพราะเรามีเครื่องมือครบครัน”
คุณบูลย์เล่าว่า การเตรียมดินปลูกอ้อยให้ดี และมีน้ำเสริมให้กับอ้อย คือเทคนิคสำคัญ
“เทคนิคของไร่เรา เริ่มจากการเตรียมดิน การวางแผนการปลูก รวมถึงเครื่องมือ เคล็ดลับเตรียมดิน เริ่มจากไถผาล 3 ตากดิน แล้วพรวนด้วย 22 จานให้หน้าดินละเอียด ใช้ตัวตีแนวให้รากอ้อยลงไปลึก ระบบน้ำสะคัญที่สุดเลยครับ เมื่อก่อนกำหนดไม่ได้เลยว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง ตอนนี้เรามีน้ำบาดาล กำหนดทุกอย่างได้ การดูแลอ้อยก็ง่ายขึ้น”
“เรื่องกำจัดวัชพืชก็ทิ้งไม่ได้ครับ สำคัญมาก เราใช้วิธีพรวนกำจัดวัชพืช หากเจอปัญหาโรคอ้อย เราจะแก้ปัญหาโดยการไถทิ้ง และเลือกพันธุ์อ้อยใหม่ ๆ มาปลูก แต่ก็ต้องดูให้เหมาะสมกับสภาพดิน นอกจากนี้ก็มีเรื่องการใช้โดรนให้ฮอร์โมนเพิ่มผลผลิตบ้าง มีอะไรที่น่าสนใจ เราก็เรียนรู้ ทดลองไปเรื่อย ๆ ครับ เพราะการปลูกอ้อยถ้าอยากได้ผลผลิตดี เราต้องพัฒนาตัวเอง ต้องตั้งใจ และทำอย่างจริงจัง”
แน่นอนว่าอนาคตของไร่อ้อยครอบครัวแซ่โง้วไม่หยุดการเติบโตไว้เพียงเท่านี้ ความสำเร็จที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นคือความภาคภูมิใจของคนเป็นพ่อแม่ ที่สามารถส่งต่อมรดกชิ้นสำคัญของครอบครัวที่ต่อยอดความยั่งยืนได้อีกยาวนาน เมื่อสมาชิกในครอบครัวต่างมองเป้าหมายเดียวกัน “ทำไร่สมัยใหม่ มุ่งผลักดันผลผลิต สร้างธุรกิจไร่อ้อย” ความสำเร็จจึงเกิดขึ้นได้อย่างเต็มภาคภูมิ